หากคุณกำลังจะมองหาวิธีการจดทะเบียนเว็บไซต์ของคุณให้เป็นดอทคอมแล้วหละก็ นี่เป็นอีกบทความหนึ่ง ที่จะแนะนำวิธีการและขั้นตอนต่างๆ ให้คุณได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจครับ
เว็บไซต์ปกติโดยทั่วไป จะมีทั้งแบบจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน ที่แบบไม่จดทะเบียนนั้น ก็อาจจะได้แก่ เว็บไซต์ที่ฝากไว้ตามเซิร์ฟเวอร์ฟรีต่างๆ อย่างเช่น geocities.com, hypermart.net เป็นต้น ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้ เราสามารถสร้างขึ้น และนำไปอัพโหลดได้ทันที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบจดทะเบียน นั่นคือคุณต้องทำการจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ของคุณ ให้เป็น .com, .net, .org ฯลฯ แล้วแต่ประเภทของเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งหากคุณเป็นเว็บไซต์ประเภทส่วนบุคคล หรือการค้า ก็เป็น.com และถ้าหากคุณเป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับเครือข่าย ก็อาจจะใช้.net และถ้าหากเป็นประเภท องค์กร ก็จะใช้.org บางครั้ง คุณอาจจะเห็นเป็น .co.th นั่นก็หมายความว่า เป็นเว็บไซต์ประเภทการค้า ซึ่งจดทะเบียนภายในประเทศไทย .ac.th ก็หมายความว่า เป็นเว็บไซต์ของสถานศึกษาที่จดทะเบียนในประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ถ้าลงท้ายด้วย.th .uk .jp ฯลฯ แสดงว่าเป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในประเทศนั้นๆ ส่วนที่ไม่มีชื่อประเทศต่อท้าย ก็จะจดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหมดครับ
คราวนี้ เมื่อคุณมีชื่อเว็บไซต์ของคุณแล้ว และคุณเลือกได้แล้วว่าจะใช้ดอทอะไร สิ่งต่อไปก็คือ คุณต้องตรวจสอบชื่อที่คุณตั้งก่อนว่า มีคนอื่นจดไปแล้วหรือยัง จากเว็บไซต์ที่ทำเว็บโฮสติ้งต่างๆ เช่น siamcyber.net, siamrsp.com หรืออาจจะตรวจจากเว็บไซต์ที่รับจดชื่อโดเมนเนม เช่น siamdomain.com เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็อยากจะให้คุณแยกวิธีการต่อไปเป็น 2 อย่างคือ จดโดเมนเนมอย่างเดียว กับ จดโดเมนเนมด้วยเว็บโฮสติ้งด้วย(คือทั้งจดชื่อทั้งรับฝากเว็บไซต์)
การจดโดเมนเนมอย่างเดียว ก็ทำได้ครับ ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบชื่อ และทำการจดจากเว็บไซต์ของคนไทย ได้ที่ siamdomain.com ครับ ราคาตอนนี้ก็ประมาณปีละ 600 บาท ซึ่งเมื่อคุณได้โดเมนเนมของตัวเองแล้ว คุณก็สามารถเลือกโฮสติ้งที่จะเก็บเว็บไซต์ที่ไหนก็ได้ครับ อาจจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ฟรีที่คุณเคยฝากไว้ แล้วใช้ชื่อโดเมนเนมนี้ ลิ้งค์ไปก็ได้ครับ หรือจะไปฝากไว้ที่ดีกว่านั้น(เพราะไม่มีโฆษณา) แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะอธิบายต่อไปนี้หละครับ
การจดโมเนเนมด้วยและเว็บโฮสติ้งด้วย ก็คือเราให้บริษัทเว็บโฮสติ้งทั้งจดชื่อและเราก็เช่าพื้นที่ฝากเว็บไซต์ ของเราด้วย ในขั้นตอนเดียวไปเลย นั่นก็คือ ได้ทั้งชื่อโดเมนเนมและเนื้อที่เก็บเว็บไซต์ครับ ซึ่งคุณสามารถหาเว็บไซต์ที่รับทำเว็บโฮสติ้งต่างๆ ได้ทั่วๆไปครับ เช่น siamcyber.net, siamrsp.com ซึ่งเขาจะรับจดทั้งชื่อ และจัดหาเนื้อที่ให้เราเลย ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่เก็บ เป็นรายเดือนไป อันนี้ ก็แล้วแต่บริษัทไหนจะเก็บค่าบริการเท่าไหร่ คุ้มหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องมาเปรียบเทียบกันหละครับ
คราวนี้ถ้าหากคุณกำลังจะมองหาเว็บโฮสติ้งด้วย ก็ต้องมาดูก่อนว่า เว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บแบบไหน คนเข้ามาดูกันบ่อยหรือเปล่า หรือว่านานๆครั้ง ซึ่งก็สามารถดูประสิทธิภาพของเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทโฮสติ้งที่เราจะ ไปฝากได้ครับ เช่น ถ้าเว็บไซต์เรามีคนเข้าไม่กี่คน และมีจำนวนหน้าน้อย มีเนื้อที่น้อย กราฟฟิคน้อย ก็สามารถใช้โฮสติ้งที่ประสิทธิภาพปานกลางได้ แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่กราฟฟิคสูงๆ ต้องใช้ความเร็วในการดาวน์โหลด อันนี้ก็ต้องเลือกโฮสติ้งที่มีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วยครับ
จะเลือกแพคเกจไหนดี
เว็บโฮสติ้งแต่ละบริษัท ก็จะมีแพคเกจให้เราเลือก เช่น เนื้อที่ 25MB. 50MB. 100 MB. เป็นต้น ซึ่งการเลือกแพคเกจต่างๆ นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับเว็บไซต์เราด้วยว่า ใช้เนื้อที่มากน้อยแค่ไหน อันนี้เนื้อที่มาก ราคาค่าบริการก็สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าหากคุณต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย คุณสามารถเลือกแพคเกจต่ำที่สุด แล้วเมื่อเว็บไซต์ของคุณมีเนื้อที่เต็มแล้ว ก็นำข้อมูลที่เหลือ ไปฝากตามเซิร์ฟเวอร์ฟรีต่างๆ และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ในการเลือกเว็บโฮสติ้งคือ คุณต้องพิจารณาว่า เว็บไซต์ของคุณ คุณต้องการให้คนเข้ามาชมมากน้อยแค่ไหน เพราะบางบริษัท อาจจะจำกัดการโอนถ่ายข้อมูล หรือ Data Transfer ซึ่งถ้าหากคุณต้องการให้เว็บไซต์ของคุณ มีผู้เข้าชมมาก แล้วคุณไปเลือกโฮสติ้งที่จำกัดการโอนถ่ายข้อมูลต่อเดือน ก็อาจเกิดความเสียหายกับเว็บไซต์ของคุณได้ เพราะเมื่อครบจำนวนการโอนถ่ายข้อมูลแล้ว ก็ไม่สามารถจะเปิดดูเว็บไซต์นั้นได้ครับ ทางที่ดี คุณควรจะเลือกบริษัทโฮสติ้งที่ไม่จำกัดการโอนถ่ายข้อมูล เพราะจะช่วยให้เว็บไซต์คุณ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลมา ได้ไม่จำกัดครับ ส่วนบางท่าน หากต้องการราคาที่ต่ำลงไป และมีคนเข้าชมเว็บไซต์ไม่เยอะ ก็อาจจะใช้แบบจำกัดการโอนถ่ายข้อมูลด้วยก็ได้ครับ เพราะจะประหยัดค่าบริการได้
บทความนี้ ก็อาจจะให้ความรู้เกี่ยวกับการจดโดเมนเนมและการตั้งเว็บโฮสติ้งได้บ้างนะครับ ซึ่งคุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์บริษัทเว็บโฮสติ้งต่างๆ ซึ่งเขาก็จะมีข้อมูลให้เราได้ตัดสินใจกันครับ
|