สิ่งที่ผมกำลังจะบอกไม่ได้เป็นศาสตร์หรือแนวความคิดใหม่ แต่เป็นหลักการเดิมที่หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินดูเหมือนจะเข้าใจผิด ผมได้มีโอกาสหลายครั้งลองถามผู้ฟังของผมว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเสียเงินโดยการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หลายท่านตอบว่า ไม่มีทางเป็นไปได้
พวกเราถูกสอนว่า พันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยง ดังนั้น หลายท่านจึงเข้าใจว่า พันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงใดๆ อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี คุณสมบัติที่ไม่มีความเสี่ยงหมายความแค่ว่า พันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากประชาชนของประเทศใด ไม่ควรจะต้องกังวลว่ารัฐบาลของตนเองจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ (การซื้อพันธบัตรรัฐบาลเปรียบเสมือนกับการที่คุณให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน
แต่ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต พันธบัตรรัฐบาลยังได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงอื่นๆ อีกหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านการลงทุนใหม่ และความเสี่ยงด้าน Yield Curve เป็นต้น จากความเสี่ยงหลายๆ ด้านที่กล่าวถึง ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยถือเป็นความเสี่ยงหลัก
ขอผมอธิบายว่า พันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยได้อย่างไร หากคุณลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ที่มีอัตราดอกเบี้ย 5% ในแต่ละปี คุณจะได้รับผลตอบแทน 5% จากเงินต้นของคุณไปอีก 5 ปี สมมติว่า 1 วันหลังจากที่คุณลงทุน อัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 7% อะไรจะเกิดขึ้น อย่างแรกเลย คือ คุณจะรู้สึกเสียดายว่าถ้าคุณรออีกแค่ 1 วัน คุณจะรับผลตอบแทนมากขึ้นอีกปีละ 2% ไปอีก 5 ปี นอกจากนั้น พันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่คุณลงทุนก็มีราคาซื้อขายในตลาดที่ลดมูลค่าลงด้วย เนื่องจากไม่มีใครจะยอมลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ให้อัตราดอกเบี้ย 5% ในราคาเต็ม เพราะเขาสามารถได้รับอัตราผลตอบแทน 7% จากพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอื่นๆ ที่ออกมาใหม่ ดังนั้น ราคาตลาดของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่คุณลงทุนจะตกลงอย่างไม่ต้องสงสัย ในตัวอย่างนี้ คุณจะขาดทุนไป 8.2% ใน 1 วัน ดังนั้น ใครบอกว่าลงทุนในตราสารหนี้ไม่มีความเสี่ยง นี่คือความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย
การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อกองทุนตราสารหนี้ตามตัวอย่างข้างต้น แม้ว่าจะไม่ได้ขายพันธบัตรออกไปจากกองทุน และเชื่อมั่นว่าจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนครบถ้วนเมื่อครบกำหนดอายุพันธบัตร แต่ก็จะได้รับผลกระทบจากราคาซื้อขายในตลาดซึ่งจะต้องนำราคาเหล่านี้มาคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทุกวัน แต่หากคุณขายกองทุนอออกไป แน่นอน คุณต้องรับการขาดทุนเพราะกองทุนต้องใช้ราคาตลาดในการกำหนดมูลค่าต่อหน่วย และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลายคนที่ไปเปรียบเทียบผลตอบแทนในอดีตกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ในตัวอย่างข้างต้น หลายคนอาจแย้งว่า ผลตอบแทนในอดีตที่ติดลบ 8.2% เป็นผลงานที่แย่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนปัจจุบันในตลาดที่ 7% ถึงแม้ว่าการเปรียบเทียบดังกล่าวจะไม่ใช่การเปรียบเทียบที่ถูกต้อง ผู้จัดการกองทุนก็จำต้องรับคำวิจารณ์ดังกล่าว
เมื่อมีความเสี่ยงจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเช่นนี้ เราควรจะทำอย่างไร
ทางเลือกวิธีหนึ่ง คือ แค่นำเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากประจำ ซึ่งมูลค่าของสินทรัพย์ไม่ขึ้นลง แต่คุณจะ lock in อัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งอาจจะเป็นผลตอบแทนที่ต่ำ และอาจจะต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลเล็กน้อย เมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น คุณก็เสียโอกาสในการได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นตามราคาตลาดอยู่ดี เพราะเงินถูกล็อคไว้ตามอายุของเงินฝากนั้น อีกทางที่จะช่วยแก้ปัญหาก็คือ ไปลงทุนระยะสั้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุสั้นจะมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาว เนื่องจากครบกำหนดเร็วกว่า พอครบกำหนดก็ลงทุนใหม่ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชน ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง (Investment Grade) ซึ่งแม้ว่าการลงทุนของคุณจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย คุณก็จะยังได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่แน่นอน ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนี้ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การลงทุนในทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้แม้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้อาจได้รับผลขาดทุน แต่ผลขาดทุนในตราสารหนี้จะได้รับการหักกลบกับกำไรจากการลงทุนในตราสารทุน นอกจากนี้คุณยังสามารถรับผลตอบแทนที่เปรียบเทียบกับความเสี่ยงแล้วยังสูงกว่าการลงทุนในตลาดใดตลาดหนึ่งแต่เพียงตลาดเดียวเดียว อย่างไรก็ตาม คุณควรทราบว่า การเพิ่มตราสารทุนใน Portfolio ของคุณอาจไม่ได้ช่วยให้คุณได้ผลตอบแทนที่คุณต้องการในบางปี เช่นในปีนี้ที่ทั้ง 2 ตลาดต่างตกลงพร้อมกัน